Sunday, July 7, 2013

ตำรวจไทยในอุดมคติ - ความฝันเรื่องการปฏิรูปตำรวจ

คำนำมาตรฐาน: เนื้อความของข้อเขียนนี้ ล้วนเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล  ซึ่งผมได้เขียนขึ้นในฐานะนักศึกษาที่ได้มีโอกาศไปศึกษาในต่างแดน และในฐานะบุคคลที่มีความสนใจทางด้านการบริหารบ้านเมืองของเรา การเขียนบทความนี้ผมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ แต่ผมเขียนขึ้นเพราะผมมีความเชื่อว่าในระบอบประชาธิปไตย อำนาจของประชาชนไม่ได้จบลงด้วยการเลือกตั้ง หรือการชุมนุม แต่ประชาชนมีหน้าที่ร่วมกัน ใช้ความรู้ ความคิด ช่วยกันนำพาประเทศให้เจริญขึ้น...เมื่อเราเลือกบุคคลมารับใช้ประชาชนแล้วเราต้องอย่านิ่งเฉย ปล่อยไปตามบุญตามกรรม แต่ต้องช่วยกันนำทางนักการเมืองให้บริหารประเทศอย่างเหมาะสม ดังนั้น ผมจึงกล้าแสดงความคิดเห็นที่ผมมีให้กับสาธรณาชน  หากผู้อ่านมีความเห็นและข้อแนะนำใดๆ ผมขอน้อมรับไว้ทุกประการครับ

ตำรวจไทยในอุดมคติ - ความฝันเรื่องการปฏิรูปตำรวจ


เมื่อผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ตกเป็นจำเลยสังคม ด้วยพฤติกรรม "ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้"...ทั้งไถเงินประชาชน ทั้งซูฮกฝ่ายการเมือง ทั้งเลือกปฏิบัติ และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่...ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่สังคมไทย จะมาช่วยกันคิดว่าเราควรทำอย่างไรให้สถาบันสีกากีกลับมาเป็นที่น่าเชื่อถือ และเป็นองค์กรที่ส่งเสริมให้ตำรวจดีๆ ที่มีอยู่มากมาย ได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อรักษาความเป็นนิติรัฐของแผ่นดินไว้ชั่วกาล



ที่มา


กิจการตำรวจในประเทศไทยที่จริงแล้วมีมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเป็นหน่วยงานที่ขึ้นกับกรมเวียง (สมัยนั้น มีอยู่สี่กรม วัง เวียง คลัง นา) หน่วยตำรวจมีการแบ่ง เป็นตำรวจพระนครบาล ตำรวจภูธร และตำรวจหลวง (ขึ้นกับวัง) โดยผู้ที่จะเป็นตำรวจได้ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีประวัติด่างพร้อยแต่อย่างใด

ตำรวจไทยมีการปฏิรูปอีกหลายครั้งระหว่างปี ๒๔๐๓ - ๒๔๗๕ ในยุคของ ร.๔ และ ร.๕ เพื่อให้การทำงานของตำรวจเป็นระบบ และเป็นมืออาชีพมากขึ้น โดยสิ่งสำคัญที่สุดในช่วงนี้คือการจัดตั้งโรงเรียนตำรวจ ในปี ๒๔๔๔ ทำให้ตำรวจสามารถรวบรวมองค์ความรู้ และถ่ายถอดประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เครื่องแบบตำรวจ พ.ศ. ๒๔๕๘ - ๒๔๗๕

สิ่งที่น่าฉงนใจที่สุด คือหลังมีการปฏิวัติสยาม ในปี ๒๔๗๕ การปฏิรูปตำรวจได้เกิดขึ้นเพียงสองครั้งเท่านั้น ครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นในปี ๒๔๗๕ มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานใหม่ โดยมีพื้นฐานจากระบบตำรวจในญี่ปุ่นซึ่งในสมัยนั้นญี่ปุ่นยังเป็นยุคจักรวรรดิ ไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่อย่างใด จึงทำให้หน่วยงานตำรวจเป็นหน่วยงานที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ภายใต้บัญชาของกระทรวงมหาดไทยเพียงผู้เดียว

การปฏิรูปครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี ๒๕๔๑ โดยมีการปรับชื่อ "กรมตำรวจ" เป็น "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี และต่อมามีการออกกฎหมายรองรับคือ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)




เราจะเห็น ได้ว่าการปฏิรูปตำรวจ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ นั้นคล้ายกับการแต่งหน้า ทาตา เท่านั้น เพราะใจความจริงๆ คือการย้ายศูนย์อำนาจจากกระทรวงมหาดไทย มาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี โดยนอกเหนือจากการที่นายกฯจะเป็นผู้บังคับบัญชาของตำรวจโดยตรงตามกฎหมายแล้ว สมาชิกคณะกรรมการตำรวจต่างๆ กว่าครึ่งก็ประกอบด้วย รัฐมนตรี และข้าราชการ ที่ นายกรัฐมนตรี บังคับบัญชา และ มีอำนาจสั่งโยกย้ายได้ทั้งหมด (ดูองค์กระกอบ ก.ต.ช.)


 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์
ดังนั้น หากพูดกันง่ายๆ คือระบบ ตำรวจไทยนั้น นิ่งเฉย และไม่ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังมามากกว่า ๘๐ ปี ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าระบบการบริหารเยี่ยงนี้ได้เคยทำให้เกิดรัฐตำรวจ มาแล้วในยุคของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ จนทหารทนไม่ได้ จึงก่อการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อโค่นอำนาจตำรวจ


ปัญหา


ถึงแม้ในทางกฎหมาย ศูนย์อำนาจตำรวจไทยจะรวมอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียว แต่ในทางปฏิบัติของทุกยุคสมัยที่ผ่านมา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มักเป็นผู้ที่ตกเป็นจำเลยสังคมเมื่อตำรวจทำงานบกพร่อง โดยสังคมมักมองข้ามไปว่า ที่จริงแล้วนายกฯมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อการปฏิบัติงานของตำรวจ

แต่หากเราจะโทษนายกฯ ทุกอย่างก็คงลำบาก เพราะท่าน ก็รับผิดชอบงานหลายด้าน มิอาจดูแลรายละเอียดการปฏิบัติงานของตำรวจได้ทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ผบ.ตร. ก็เป็นข้าราชการประจำ หากมีความอดทน จับทิศการเมืองได้เก่ง ทำงานพอผ่าน ก็อยู่บนเก้าอี้ได้อย่างเย็นสบายจนเกษียณ

สภาวะที่ผู้นำหน่วยงาน ทั้งทางการเมืองและฝ่ายประจำ ที่สามารถลอยตัวอยู่เหนือปัญหาได้ ไม่มีแรงกดดันที่จะพัฒนาองค์กร ประกอบกับการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่นายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียว จึงทำให้หน่วยงานนี้ยังคงวนเวียนอยู่กับปัญหาเก่าๆ เช่น

  • การรีดไถประชาชน
  • การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
  • การเลือกปฏิบัติ
  • การทำงานอย่างไม่เป็นกลาง เอาใจฝ่ายการเมือง
  • การสูญเสียกำลังพล จากการใช้ยุทธวิธีที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
  • การจับกุม และ ดำเนินคดีล่าช้า
  • การโยกย้ายกำลังพล อย่างไม่เป็นธรรม

โดยปัญหาเหล่านี้ทำให้สังคมไทยมองสี "สีกากี" เป็นสีที่มัวหมองลงไปมาก


ข้อเสนอ


คล้ายคลึงกับสหรัฐฯ ประเทศของเราควรจัดให้บางตำแหน่งใน สนง.ตร. เป็นตำแหน่งที่ประชาชน สามารถเลือกเข้ามาได้โดยตรง...แต่การทำเช่นนี้เราต้องระมัดระวัง และวางระบบให้ดีเพื่อหลีกเลี่ยงหลายปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐฯ และอาจเกิดขึ้นในไทยเช่น

  • การโยกย้าย เพื่อ สกัดดาวรุ่งไม่ให้มียศเพียงพอในการลงสมัครเลือกตั้ง
  • การไม่ร่วมมือกันระหว่าง ตำรวจคู่แข่ง
  • การมองข้ามงานตำรวจที่ประชาชน ไม่อาจเห็นคุณความดีได้ (เช่นการต่อต้านการก่อการร้าย)
  • การเข้าข้างนักการเมืองท้องถิ่นเพื่อขอฐานเสียง
  • การเลือกปฏิบัติเอาใจฝ่ายที่เลือก และมองข้ามสิทธิ์ของคนส่วนน้อยในพื้นที่

ด้วยความกังวลข้างต้นผมจึงมีความคิดว่าการปฏิรูปตำรวจไทยควรดำเนินการไปตามแนวทางดังต่อไปนี้

๑. จัดให้ประชาชนในพื้นที่เลือกผู้บัญชาการตำรวจภูธร (ผบช.ภ.) (เขต ๑-๙ + ศชต) และ ตำรวจนครบาล (ผบช.น.) รวมสิบเอ็ดตำแหน่ง 

โดยกำหนดให้ ผบช.ภ. และ ผบช.น. มีหน้าที่ สืบสวน, ปราบปราม, พัฒนาองค์ความรู้และฝีมือกำลังพล, ทำงานประชาสัมพันธ์, ลาดตระเวนดูแลความสงบเรียบร้อย, และร่วมมือกับส่วนกลางในการสนับสนุนการข่าว และการปฏิบัติการพีเศษต่างๆ เช่นการจู่โจมทางยุทธวิธี, ปราบจลาจล, และงานสอบสวนข้ามเขต

การที่เลือกตั้งเขตใหญ่ขึ้นทำให้ลดการทุจริต และการพึ่งพาฐานเสียงของนักการเมืองท้องถิ่น

๒. จัดให้มีผู้ประเมินผล-ติดตามการดำเนินงานตำรวจในระดับจังหวัด โดยผู้รับผิดชอบหลักได้รับเลือกจากประชาชนในจังหวัด และมีอำนาจส่งเรื่องให้ ก.ต.ช. พิจารณาลงโทษ ผบช.น และ ผบช.ภ. หากพบการทำผิดวินัย หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่


การเลือกผู้ติดตามงานต้องมาจากเขตพื้นที่ ที่เล็กกว่าเขตเลือกตั้ง ผบช.น. และ ผบช.ภ. เพื่อสะท้อนคนที่อาจเป็นเสียงส่วนน้อยเมื่อเขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้น แต่ตำรวจยังต้องมีหน้าที่ดูแลคนเหล่านี้ให้ทั่วถึงเช่นกัน

๓. มอบหมายให้ ผบ.ตร, รอง ผบ.ตร, และ ผู้ช่วย ผบ.ตร มีหน้าที่ประสานงานในกรณีการทำงานข้ามเขต และมีอำนาจบังคับบัญชาผูบัญชาการหน่วยกลางต่างๆเช่น หน่วยข่าว หน่วยจู่โจมพิเศษ หน่วยส่งกำลังบำรุง เป็นต้น

การจัดหน้าที่เช่นนี้จะช่วยให้งานที่ไม่มีผลต่อคะแนนนิยม (ปิดทองหลังพระ) สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังทำให้การทำงานระหว่างภูมิภาคเป็นเอกภาพมากขึ้น

๔. กำหนดให้ผู้ที่ลงเลือกตั้งไม่มีสิทธิ์ในการรับตำแหน่ง ผบ.ตร, รอง ผบ.ตร, หรือ ผู้ช่วย ผบ.ตร. 

เพื่อแยกสายตำรวจให้ชัดเจนและรักษาความความสมดุลไม่ให้ตำรวจทุกคนกลายเป็นนักการเมือง หรือ เป็นข้าราชการเย็นชา 

ป้องกันตำรวจสายเลือกตั้งไม่ให้ความร่วมมือกับตำรวจคู่แข่งแม้ว่าตนจะพ้นตำแหน่ง ผบช.น. หรือ ผบช.ภ. มาดำรงค์ตำแหน่งที่ดูแลระดับชาติแล้วก็ตาม

ป้องกันการโยกย้ายอย่างไม่เป็นธรรมโดย ตร. สายเลือกตั้ง เพื่อหวังผลทางการเมือง

สังเกตว่าผู้เขียนเห็นว่าตำแหน่ง ผบ.หน่วยกลางกลุ่มพิเศษ มิควรจำกัดสาย เพราะตำแหน่งเหล่านี้ถือเป็นตำแหน่งชำนาญการ อาจขาดคนที่มีความสามารถเพียงพอมาดำรงค์ตำแหน่ง

๕. จัดให้ ก.ต.ช. มีผู้นอกบัญชาของนายกฯร่วมเป็นคณะกรรมการ ก.ต.ช. เช่น ประธานวุฒิฯ และ ประธานสภาผู้แทนฯเป็นต้น 

เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ 

การที่ไม่เพิ่ม ตำแหน่ง ผบช.น. และ ผบช.ภ. เข้าไปในคณะฯ เพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจสายเลือกตั้งมีอำนาจโยกย้ายคู่แข่งของตน


สรุป

ผู้เขียนตระหนักดีว่า ข้อคิดเห็นที่เสนอนั้นยังมีจุดบกพร่อง และอาจไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้เสียทั้งหมด แต่ผมมีความหวังเสมอว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องเริ่มจากความคิดเล็กๆ ที่ขยายวงกว้างขึ้นๆ จนตกผลึก ดังนั้นหากท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น ผมมีความยินดีที่จะรับฟังมุมมองของทุกท่านครับ 

Source



No comments:

Post a Comment