Wednesday, September 26, 2012

ขั้นตอนการเลือก ประธานาธิบดี สหรัฐฯ

การเลือกตั้งประธานาธิบดี  (ปธน) ของสหรัฐอเมริกากำลังจะเข้าโค้งสุดท้าย...แต่ก็ยังมีหลายคนที่ยังงงกับขั้นตอนอันแสนยุ่งยากซับซ้อนอยู่มาก

ดังนั้นวันนี้ผมขอนำมาสรุปให้ทราบกันเป็นเกร็ดความรู้ดังต่อไปนี้ครับ


  1. ตามทำเนียมปฏิบัติ ของพรรคใหญ่ๆ อย่าง ริพับลิกัน (Republican) และพรรคเดโมเเครต (Democrat) ประมาณ เดือน มกราคมของ ปีที่มีการเลือกตั้ง ทางพรรคจะเริ่มขบวนการสรรหาผู้ชิงตำแหน่ง โดยการจัด คอคัส(caucus) หรือ ไพรมารี่(Primary) เพื่อเลือก เดลิเกต (Delegate)  โดยจำนวนเดลิเกต (Delegate) ของแต่ละรัฐจะมีจำนวนไม่เท่ากันขึ้นกับจำนวนประชากร และกฎของแต่ละพรรค 
  2. เดลิเกต (Delegate) นั้นจะแบ่งออกเป็นสามประเภทคือ
    1. เป็นผู้ที่ได้รับเลือกให้มาเป็นตัวแทนของรัฐแต่ไม่มีข้อผูกมัดว่าจะสนับสนุนให้คนไหนในพรรคเป็นผู้ชิงตำแหน่ง ปธน.
    2. เป็นผู้ที่ได้รับเลือกให้มาเป็นตัวแทนของรัฐแต่มีข้อผูกมัดว่าจะสนับสนุนให้คนไหนในพรรคเป็นผู้ชิงตำแหน่ง ปธน. 
    3. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิของพรรคที่ไม่มีข้อผูกมัดว่าจะสนับสนุนให้คนไหนในพรรคเป็นผู้ชิงตำแหน่ง ปธน. 
  3. ประมาณช่วงฤดูร้อนก่อนการเลือกตั้ง ทั้งสองพรรคจะจัดงาน เนชั่นแนล คอนเวนชั่น (National Convention) ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรค เพื่อให้มีการพูดคุยเรื่องนโยบาย และที่สำคัญคือ เพื่อให้ เดลิเกต (Delegate)  ทั้งสามประเภทเลือกผู้ชิงตำแหน่ง ปธน. และ รอง ปธน. ในนามพรรค 
  4. ตามธรรมเนียมเมื่อมีการเลือกผู้ชิงตำแหน่ง ปธน เรียบร้อยผู้ชิงตำแหน่ง ปธน ที่ได้รับเลือกจากพรรคให้ลงในนามพรรคจะประกาศผู้ชิงตำแหน่ง รอง ปธน ที่จะลงเป็นคู่กันในนามพรรค เพื่อให้เดลิเกตทุกคนในงานเลือกตามอย่างเป็นเอกภาพ
  5. หลังจาก ผู้ชิงตำแหน่ง ปธน. ได้ลงหาเสียงคู่กับ ผู้ชิง ตำแหน่งรอง ปธน. สักระยะหนึ่ง ก็จะมีการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ตรงกับ วันอังคาร หลังวันจันทร์แรกของเดือน (อังคารใดอังคารหนึ่งระหว่างวันที่ ๒ พ.ย. - ๘ พ.ย.)
  6. ในการเลือกตั้งทั่วไป ที่จริงแล้วไม่ใช่การเลือก ปธน.-รอง ปธน. โดยตรง แต่เป็นการเลือก อีเล็คเตอร์ (Elector) ซึ่งแต่ละรัฐจะมีจำนวน  อีเล็คเตอร์ ไม่เท่ากันตามประชากร (จำนวน = สส. + สว.(๒) ของรัฐนั้นๆ) อีเล็คเตอร์เหล่านี้มักเป็นคนของแต่ละพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้ว่า อีเล็คเตอร์ "ก." จะเลือก ปธน.-รอง ปธน "ข." เป็นต้น
  7. ดังนั้นบนบัตรเลือกตั้ง ประชาชนจะสามารถเห็นชื่อของ อีเล็คเตอร์(ในบางรัฐเท่านั้นที่จะระบุ) คู่กับชื่อของ ปธน - และ รอง ปธน. (ระบุทุกรัฐ) โดยการกาครั้งเดียวจะเท่ากับการ เลือก อีเล็คเตอร์ (และ ปธน. - รอง ปธน. โดยปริยาย) หรือหากไม่ชอบใครเลยบางรัฐยังอนุญาต ให้เขียนชื่อ "นาย ฮ." อะไรก็ได้ลงในช่องว่าง และเขียนชื่ออีเล็คเตอร์ "อ." ที่คุณต้องการให้เข้าไปเลือกบุคคล ("นาย ฮ.") ที่คุณเขียนชื่อเพิ่มเข้าไป
  8. โดยส่วนมาก ผู้ชิง ปธน. - รอง ปธน. คู่ใดคะแนนสูงสุดในรัฐนั้นๆ ก็จะได้ อีเล็คเตอร์ของผู้สมัครทั้งหมดเข้าไปเป็น อีเล็คเตอร์ เช่นถ้าพรรคเดโมแครตได้คะแนน ๕๑% อีเล็คเตอร์ ของรัฐนั้นทั้งหมดจะเป็นคนของพรรค เดโมแครต
    • มีเพียงรัฐ เมน (Maine) และ เนบราสก้า (Nebraska) เท่านั้นที่เลือกอีเล็คเตอร์ ตามเขตเลือกตั้งของรัฐ+อีเล็คเตอร์อีก ๒ คนที่มาจากผลคะแนนรวมของทั้งรัฐ
  9. ใน วันจันทร์ หลังจากวันพุธที่ ๒ ของเดือน ธันวาคม อีเล็คเตอร์ ของแต่ละรัฐ (คณะอีเล็คเตอร์ เรียกว่า อีเล็คเตอรอล คอลเลจ (Electoral Collage)) จะรวมตัวกันในเมืองหลวงของแต่ละรัฐ เพื่อลงคะแนนเลือก ปธน-รอง ปธน
    • ถึงแม้ส่วนใหญ่จะไม่มีการเลือกอย่างผิดคาด แต่ที่จริงแล้วตามกฎหมาย อีเล็คเตอร์จะสามารถเลือกใครก็ได้ให้มาเป็น ปธน-รอง ปธน (มีเพียง ๒๔ จาก ๕๐ รัฐเท่านั้นที่มีบทลงโทษผูกมัดให้อีเล็คเตอร์เลือก ปธน-รอง ปธน ที่ตนประกาศไว้แต่ต้น)
  10. ต้นเดือนมกราคมหลังการเลือกตั้ง รองประธานาธิบดีคนเก่า ในฐานะประธานสภาสูง (Senate) จะเป็นผู้อ่านผลการลงคะแนนของอีเล็คเตอร์ ให้รัฐสภา (สภาคองเกรส Congress)ฟัง หาก ผู้ชิงตำแหน่งคนใดได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ก็จะได้เป็น ปธน. - รอง ปธน. 
  11. หากไม่มีใครได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง สส. มีหน้าที่ต้องเลือก ปธน และ สว. มีหน้าที่เลือก รอง ปธน.
  12. จบ!

เพิ่มเติม:
ขยายความเรื่อง ไพรมารี่ http://www.comprehensivethai.com/2012/09/primaries.html
ขยายความเรื่อง คอคัส http://www.comprehensivethai.com/2012/09/caucus.html

2 comments:

  1. ขอบคุณสำหรับความรู้นี้ครับ

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณครับ น่าสนใจครับ :)

    ReplyDelete