Wednesday, September 19, 2012

ร่มโพธิ์ร่มไทรของประชาชน: แนวทางการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคที่สังคมเปลี่ยนไป


            เมื่อถึงเวลาเที่ยงวัน อากาศร้อนระอุจากแสงแดดที่เผาลงมาอย่างไม่ปราณีทำให้ผู้คนที่อยู่ตามเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯต่างพากันหลบอยู่ในร่มตามห้างสรรพสินค้าบ้าง ตามร้านอาหารบ้าง หรือตามสำนักงานออฟฟิศเปิดแอร์เย็นฉ่ำเป็นที่กำบังอันทันสมัยและสบายยิ่งนัก จนอาจมีคนบางพวกลืมนึกคิดไปว่าก่อนเราจะมีบ้านเรือน อาคารทันสมัยเช่นนี้ เราจำต้องพึ่งใครในยามที่เรารุ่มร้อน ทุกข์ใจ และใคร หรือสถาบันใดที่ได้อยู่เคียงคู่บ้านเมืองเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้เราเสมอมา

            คำตอบคงเป็นอื่นใดไปมิได้ นอกจาก “สถาบันพระมหากษัตริย์”

            หากจะกล่าวสรรเสริญถึงคุณความดีนั้นเห็นว่าคงจะอ่านกันไม่ไหว แต่หากพูดในเชิงเปรียบเปรย ก็เห็นจะจริงตามคำกล่าวว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นดั่ง “ร่มโพธิ์ร่มไทร” ที่เป็นหลักประกันความสุขให้กับคนไทยเสมอมา ทั้งรักษาเอกราช ผดุงความยุติธรรม และดูแลประชาชนทางด้าน เศรษฐกิจ สาธารณสุข และสังคม

            จะกล่าวกันให้เข้าใจง่ายๆก็คือ “ยามใดไทยเป็นไท ยามนั้นย่อมมีสถาบันพระมหากษัตริย์”

            แต่ในขณะเดียวกันดังพุทธวพจน์ที่ว่า “การนินทาหรือการสรรเสริญนี้มีมาแต่โบราณ มิใช่มีเพียงวันนี้ คนย่อมนินทาแม้ผู้นั่งนิ่ง แม้ผู้พูดมาก แม้ผู้พูดพอประมาณ ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก บุรุษผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียว หรือถูกสรรเสริญโดยส่วนเดียวไม่มี แล้วจักไม่มี และไม่มีในบัดนี้” เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีผู้คนที่เสียผลประโยชน์บางกลุ่มกำลังพยายามสร้างกระแสสังคมเพื่อล้มล้างและทำให้สถาบันมัวหมอง บ้างก็เป็นอาจารย์ บ้างก็เป็นนักการเมืองผู้ทรงเกียรติ แต่กลับเป็นวัวลืมตีน ลืมหรือแกล้งลืมว่ากว่าเราจะมาถึงจุดนี้ได้เราเป็นหนี้บุญคุณใคร และที่ยิ่งร้ายไปกว่านั้นคือมีผู้ที่พยายามปลุกปั่นปลุกกระแสผ่านทางสื่อสมัยใหม่ให้ประชาชนหลงผิดตามกันไปด้วย

 พระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ทรงมีต่อพวกเราตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ความจริงเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนชาวไทย และชาวต่างชาติ ว่าทรงตรากตรำพระวรกาย เมตตาช่วยเหลือ ห่วงใยดูแลทุกข์สุขของปวงชนชาวไทยโดยมิได้หวังสิ่งใดตอบแทน ยากนักที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน แม้พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตหลายพระองค์ทรงสละแม้ชีวิตออกรบแทนเราเพื่อกู้ชาติ เพื่อรักษาชาติของเรา หลายพระองค์ทรงพัฒนาบ้านเมืองให้ก้าวหน้าอย่างมาก บางพระองค์นำชาติให้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ช่วยให้ไทยเป็นไทมาถึงทุกวันนี้  หากพวกเราชาวไทยมีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและตระหนักถึงภัยร้ายที่มีพวกฉกฉวยผลประโยชน์กำลังพยายามทำลายล้างสถาบัน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่พวกเราจะลุกขึ้นเผชิญหน้ากับความเป็นจริง แสดงความจงรักภักดี ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ของเราประดุจดังต้นไม้ใหญ่ เมื่อมีไฟไหม้มาใกล้หากเราช่วยกันดับไฟ ทำนุบำรุง ดูแลรักษา ต้นไม้นั้นก็จะยังคงอยู่ แผ่กิ่งก้านสาขา ผลิดอก ออกผล ให้ความร่มเย็นเป็นสุขกับพวกเราทุกคนต่อไป

            ในสภาวการณ์เช่นนี้ ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่รักและเป็นห่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมจึงอยากแสดงความเห็นส่วนตัวถึงแนวทางที่เราควรดำเนินการเพื่อดำรงระบอบ "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ให้อยู่คู่ชาติไทยสืบต่อไป

1. รักษากฎหมายอาญามาตรา 112 “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” แต่ปรับเปลี่ยนขั้นตอนในการ ดำเนินคดีและเอาผิด



“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย (1) พระมหากษัตริย์ (2) พระราชินี (3) รัชทายาท หรือ (4) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” - กฎหมาย อาญามาตรา 112



ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าถึงแม้คดีตามมาตรา 112 นั้นจะต้องผ่านทั้งตำรวจ และ อัยการเพื่อพิจารณาว่าควรส่งฟ้องหรือไม่ แต่คดีกลับมีเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ทำให้มีประชาชนเกิดระแวงกลัวว่าตนอาจพูดอะไรที่ผิดมาตรา 112 โดยไม่เจตนา บ้างก็แคลงใจว่าผู้ถูกฟ้องนั้นได้รับความยุติธรรมหรือไม่ ผู้กระทำความผิดได้กระทำอะไรถึงได้รับโทษดั่งพิพากษา



การจะพิจารณาคดีก็พิจารณาในทางลับ ไม่สามารถหารายละเอียดได้จนกว่าคดีจะสิ้นสุดแล้วจึงจะหาอ่านได้จากคำพิพากษา ซึ่งเป็นภาษากฎหมาย ไม่เป็นที่นิยมอ่าน สื่อเองก็เสนอข่าวได้เพียงว่าใครเป็นผู้ถูกกล่าวหาแต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนยิ่งสร้างความสงสัยว่าด้วยความยุติธรรมของกฎหมายฉบับนี้



ก่อนที่เราจะพิจารณาการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินคดีตามมาตรา 112 เราควรมองไปที่สาเหตุที่เรามีร่างกฎหมายฉบับนี้ใช้อยู่ในประเทศ



เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อประเทศของเราได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบปัจจุบัน มีประมุขสามฝ่าย คือฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ หาก “รัฐ” ต้องการฟ้องร้องว่าความใดๆ รัฐบาลโดยมีประมุขฝ่ายบริหารคือนายกรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆต้องเป็นคู่ความในคดี ดังนั้นในระบอบปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศจึงไม่มีเหตุและไม่เป็นคู่ความกับใคร



ด้วยความที่พระองค์ท่านไม่เป็นคู่ความในคดีต่างๆ ท่านจึงไม่สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพระองค์ท่านได้ กฎหมายหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 และ 393 ไม่ได้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ดังนั้นเราจึงมีมาตรา 112 ขึ้นมาเพื่อเปิดทางให้เรามีช่องทางตามกฎหมายให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เอาผิดบุคคลที่ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ได้



สรุปง่ายๆคือมาตรา 112 คล้ายกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป มีวัตถุประสงค์ที่จะปกป้องภาพลักษณ์อันดีงามของสถาบันพระมหากษัตริย์ และลงโทษผู้ที่ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย”ต่อสถาบันฯ



แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปคือความกระจ่างของนิยามคำว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” ในกฎหมาย ถึงแม้มีนักกฎหมายหลายท่านอ้างว่าจะชัดเจนแล้วก็ตาม แต่หากสังคมไม่เข้าใจก็ไม่มีความหมายอะไร



ทุกวันนี้สิ่งที่คนธรรมดาเห็นคือ:

1. ทราบว่ามีคนกล่าวร้ายสถาบันฯ โดยคนส่วนใหญ่ไม่ทราบข้อความ

2. ผู้ถูกกล่าวหาติดคุกไปแล้ว



สิ่งที่ควรจะอยู่ระหว่างข้อ 1 และข้อ 2 คือ รายละเอียดและตรรกะที่ทางตุลาการใช้ในการพิจารณาว่าเหตุใดศาลถึงเห็นว่าจำเลยมีความผิด ได้กระทำการ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” จริง



อันที่จริงแล้วปัญหานี้น่าจะสามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งหากแก้อาจเป็นชนวนเหตุให้เกิดความขัดแย้งในสังคม สำหรับการแก้เราแก้ที่วิธีดำเนินการครับ มีศาลซึ่งมีหน้าที่ตีความและรักษากฎหมายเป็นเจ้าภา



โดยผมขอเสนอแนะให้:

                1. ศาล และหน่วยงานรักษากฎหมายต่างๆชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยทั่วกันว่าการกระทำอันใดเข้าข่าย “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมาย

                2. ศาลชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างโทษและความผิด เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมาย

                3. ศาลแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงประเด็นข้อกังขาต่างๆเท่าที่จะกระทำได้ตามกฎหมายในคดีสำคัญๆ เป็นระยะๆขณะการพิจารณาคดี อะไรที่สามารถเปิดเผยได้ก็ควรเปิดเผย อนึ่งข้อเสนอนี้ไม่ได้หมายความว่าให้ยกเลิกการพิจารณาคดีในทางลับนะครับ แต่เป็นการทำให้ประชาชนเห็นว่าการทำงานของฝ่ายตุลาการไม่มีเจตนากลั่นแกล้งประชาชน

                4. ผู้บังคับใช้กฎหมายพิจารณาเจตนารมณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นหลัก และกล้าที่จะยกคำร้องตามสมควร หากตัดสินใจฟ้องควรชี้แจงว่าจำเลยมีความผิดอะไรตามบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ผมเสนอให้ประกาศในข้อ 1



2. ชี้แจง ตอบโต้ สร้างความกระจ่างให้ประชาชนเห็นถึงข้อเท็จจริงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์



เนื่องจากผมศึกษาอยู่ต่างประเทศ ผมจึงได้มีโอกาสพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายในอินเตอร์เน็ทอยู่มาก โดยเฉพาะทางเว็บไซต์ที่อนุญาตให้ผู้ใช้ upload คลิปของตนขึ้นไปบนเว็บ โดยเมื่อพบเห็นผมก็จะแจ้งกระทรวง ICT ให้ทราบทุกครั้งไป



แต่สิ่งที่ผมสังเกตได้ชัดเจนที่สุดคือ ข้อกล่าวหาใส่ร้ายพระองค์ท่านล้วนเป็นเรื่องที่ไร้สาระ และเบาปัญญาอยู่ค่อนข้างมากครับ คือเอาเรื่องไม่เป็นเรื่องไม่มีเหตุผลมาผูกกัน อันที่จริงผมก็อยากเล่าให้ฟังเป็นเรื่องขำขันแต่ก็เกรงว่าจะผิดกฎหมายตามไปด้วย



แต่ประเด็นคือ หลายครั้งข้อกล่าวหานั้นดูแล้วจะยิ่งชี้ให้เห็นถึงความเบาปัญญาของผู้กล่าวหามากกว่าผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้นนอกจากการเอาผิดและปราบปรามคนพวกนี้แล้ว รัฐควรมีสิทธิ์ที่จะเปิดเผยและโต้แย้งกับข้อมูลเท็จเหล่านี้ได้โดยไม่ยาก ถึงแม้ในปัจจุบันการเปิดเผยข้อความที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะผิดกฎหมาย แต่เราควรมีกลไกพิเศษหรือมีคณะกรรมารพิเศษที่ประกอบด้วยฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายการเมือง ฝ่ายนิติ และนักวิชาการ เพื่อใช้โอกาสเหล่านี้ทำลายความน่าเชื่อถือของพวกเนรคุณแผ่นดิน



3. เร่งสรรหากิจกรรมที่ปลูกฝังจิตสำนึกให้นักเรียน และคนรุ่นใหม่รู้ถึงคุณของสถาบัน เช่นการจัดกิจกรรมตามรอยพระยุคลบาท”



จากการที่ผมเป็นนักศึกษา คลุกคลีอยู่กับเยาวชนทั้งที่เรียนเมืองนอกและที่เรียนในไทย ผมต้องยอมรับว่ามีคนรุ่นใหม่หลายคนที่ไม่เข้าใจ ไม่สนใจ ว่าเพราะเหตุใดสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงมีความสำคัญต่อคนไทย เพราะความไม่เข้าใจตรงนี้จึงทำให้หลายคนจงรักภักดี “ตามหน้าที่” หลายคนก็ไม่จงรักภักดีเสียเลย



ถือเป็นโชคร้ายของคนรุ่นผมที่หลายคนเกิดไม่ทัน จำไม่ได้ถึงเมื่อครั้งที่พระองค์พลานามัยดีกว่านี้ เสด็จออกทรงงานหนักในที่ต่างๆให้สังคมเห็น ถึงทุกวันนี้ท่านจะยังทรงงานหนักแต่หลายครั้งก็ไม่ได้เป็นที่ประจักษ์ให้พวกเราได้เห็น



ถึงแม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานต่างๆจะพยายามเผยแพร่พระราชกรณียกิจผ่านทางสื่อและนิทรรศการต่างๆ แต่ผมก็ยังเห็นว่าไม่เพียงพอ รัฐบาลต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำสงครามกับพวกเนรคุณแผ่นดิน โดยคิดโครงการดีๆให้ประชาชนตระหนักจริงๆว่าท่านต้องลำบากเพียงไรเพื่อเรา



โดยผมอยากให้โรงเรียนทำโครงการ “ตามรอยพระยุคลบาท” พานักเรียนบำเพ็ญประโยชน์ในที่ต่างๆตามที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงงานไว้ เพื่อให้พวกเขาได้เหนื่อย และตระหนักได้ว่าพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านนั้นล้นพ้นไร้คำบรรยายจริงๆ พวกเขาจะได้ “เข้าใจ” ว่าด้วยเหตุใดคนไทยทั้งประเทศถึงจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นนี้



4. เปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถสอบถามข้อสงสัย ทั้งทางกฎหมายและทางประวัติศาสตร์ว่าด้วย พระราชอำนาจ



หลายครั้งประชาชนได้รับข้อมูลเท็จว่าด้วยพระราชอำนาจ ทำอะไรไม่พอใจอะไรพวกเนรคุณแผ่นดินก็มักโยนว่ามี “ผู้เหนือกฎหมาย” คอยบงการอยู่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพระราชอำนาจในปัจจุบันนั้นมีข้อจำกัดตามกฎหมายมากมายกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ


รัฐควรมีหน่วยงานที่คล่องแคล่วทันกระแส เพื่อคอยชี้แจงข้อเท็จจริง สยบข่าวลือ เปิดช่องให้ประชาชนสอบถามหาความรู้ว่าด้วยพระราชอำนาจ และสามารถชี้แจงตอบคำถามที่พบบ่อยได้ เช่นเรื่องกฎหมายมาตรา 112 เรื่องการขออภัยโทษ เรื่องการยื่นฎีกา ฯลฯ



5. ดำเนินการต่อกบฏและผู้ที่ต้องการใช้ความรุนแรง เพื่อการเปลี่ยนแปลงระบอบอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน โดยเด็ดขาดตามกฎหมายที่มีอยู่



ในความเห็นของผม ผู้ที่ต้องลุกขึ้นมาจับอาวุธคือผู้ที่ตระหนักว่าตนไม่สามารถใช้เหตุผลโน้มน้าวให้คนส่วนใหญ่เห็นตามได้ จึงจำต้องใช้ความกลัวเพื่อบีบบังคับให้คนจำยอมตามพวกเขา



ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากความกระจ่าง ความเห็นจริงมิใช่ความกลัว จึงจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้องและยั่งยืน ผู้ที่ใช้กำลังนั้นคือพวกแพ้ปัญญา แล้วดื้อดึงเชื่อด้วยความงมงาย หากปล่อยไว้จะเป็นภัยต่อแผ่นดิน



หากฝ่ายต่างๆเร่งดำเนินการดั่งคำชี้แนะที่ผมได้กล่าวไว้ ผมมั่นใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะอยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับคนไทยไปอีกนานครับ

No comments:

Post a Comment