Wednesday, September 19, 2012

สื่อสาร ศรัทธา ศึกษา ยุติธรรม...สี่นโยบายรัฐควรเร่งทำ พาประชา “หันหน้าทางเดียวกัน”

เมื่อเข็มนาฬิกาเคลื่อนเข้าที่ บอกเวลา 8:00 น และ 18:00 น ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศจะได้ยินวิทยุ โทรทัศน์ และเสียงตามสายต่างๆ เปล่งเสียงเพลงชาติออกมาอย่างพร้อมเพรียง

“ประเทศไทย...อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี...”


แต่เมื่อเพลงชาติจบลง และเข้าสู่ชั่วโมงข่าว เรากลับเห็นคนไทยทะเลาะกันไม่จบไม่สิ้นสักที

ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง กลุ่มผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม ฝ่ายความมั่นคง และ แม้แต่ผู้ที่เลือกใช้ความรุนแรงก่อการร้ายเพื่อหวังการเปลี่ยนแปลงก็ตาม เราทุกคนล้วนเป็นชาวไทยผู้รักชาติ ผู้ ”รักสามัคคี” ด้วยกันทั้งหมดไม่ใช่หรือครับ? เราส่วนใหญ่ต่างมีความหวังดีต่อชาติ มีความจงรักภักดี แต่ด้วยเหตุใดเราจึง “หันหน้ากันไปคนละทาง” เรียกร้องสิ่งที่ตนคิดว่า “ดีที่สุด”แด่ชาติด้วยการยึดสนามบินบ้าง เผาบ้านเผาเมืองบ้าง รัฐประหารบ้าง? เมื่อเห็นสภาพบ้านเมืองเป็นเช่นนี้ก็มีหลายท่านที่เบื่อ และเอือมระอาไปกับสภาวการณ์ของบ้านเมืองเรา

แต่ในทางกลับกัน ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของชาติเช่นนี้ ผมขอเป็นกำลังใจและเรียกร้องให้ประชาชนทุกท่านมีความศรัทธา ในแผ่นดินไทยและคนไทยว่าเรานั้นจะสามารถกลับมา “หันหน้าไปในทางเดียวกัน” และผนึกกำลังเพื่อขับเคลื่อนให้ชาติเราเจริญ และร่มเย็นเป็นสุข มุ่งไปข้างหน้าได้ครับ


 ผมขอให้คำมั่นครับ ว่าคำตอบของ “วิกฤต” ครั้งนี้คือคำว่า “สมานฉันท์”


ความหมายของคำว่า “สมานฉันท์” ในที่นี้คือกระบวนการปรับความเข้าใจของคนไทยส่วนใหญ่ โดยการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างสันติ บนพื้นฐานของความโปร่งใส ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เหตุผล หลักวิชาการ และความเสมอภาค ให้คนไทยเห็นแจ้งว่า มันจะไม่ดีกว่าหรือถ้าเรานำกำลังที่ได้ใช้ไปในการผลักดันสิ่งที่ตนได้ยินมา หรือที่ตนคิดว่า “ดีที่สุด”ต่อประเทศชาติด้วยการ ทนลำบากอยู่ตามสถานที่ชุมนุมบ้าง ต่อว่ากันในสภาบ้าง ไปใช้ในการร่วมกันสร้างชาติให้ไปในทิศทางเดียวกันตามแผน “ปฏิรูปประเทศไทย” (ไม่ได้หมายถึงแผนของคุณอภิสิทธิ์)  ที่ทุกภาคส่วน ต้องร่วมกันพัฒนาขึ้นมาด้วยหลักเหตุผลในกระบวนการสมานฉันท์ 


หากกระบวนการ “สมานฉันท์” สำเร็จ ประเทศเราจะก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วไม่แพ้ชาติอื่นๆ เพราะสังคมเราจะเข้าใจว่าควรจะ “หันหน้า” ไปในทิศทางที่ถูกกำหนดไว้ใน “แผนปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติอย่างแท้จริง ถึงเราอาจไม่สามารถชักชวนให้ทุกคนมาร่วมมือกันกำหนดทิศทางและทำหน้าที่ของตนเพื่อชาติได้ แต่คนเหล่านี้ก็จะเป็นดุจปลาที่ว่ายสวนกระแส ไม่สามารถกีดกันขัดขวางกระแสสังคมที่มุ่งสู่ความเจริญได้


เมื่อมองความเป็นจริง การ “ปฏิรูปประเทศไทย” อย่างแท้จริง ตาม ”กระบวนการสมานฉันท์” ให้เกิดความสามัคคีในระยะยาวนั้น เป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลานาน เพราะต้องชักชวนให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าร่วมและยอมรับในกระบวนการสมานฉันท์ อันที่จริงเพียงการปรับให้สภาพสังคมเราเข้าสู่บรรยากาศการปรองดอง ที่เอื้อให้ประชาชนส่วนใหญ่เปิดใจ พร้อมที่จะเริ่มรับฟังกันและกัน เริ่มคุยกัน และเริ่มใช้หลักเหตุผลกำหนดทิศทางการเดินของประเทศตามกระบวนการสมานฉันท์นั้น อาจต้องใช้เวลานานนับปี


เพราะการแก้ ”วิกฤต” ทางการเมืองครั้งนี้ ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนส่วนใหญ่ มิเช่นนั้นผู้ที่ร่วมกันทำเพื่อชาติจะตกอยู่ในสภาวะ “ตบมือข้างเดียว” ผมจึงได้เล็งเห็นว่า ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการปรับสภาพสังคมและขับเคลื่อนให้เกิดความสามัคคีในชาติ เพราะภาครัฐมีกลไกและศักยภาพในการชักชวนให้ประชาชนมา”ตบมือ”กับภาคส่วนต่างๆที่อยากเห็นความสามัคคีกันได้


แม้ผมอาจไม่มีคุณวุฒิหรือวัยวุฒิมากนัก แต่ผมมีความกังวลเรื่องบ้านเมืองของเราเป็นอย่างมากไม่แพ้ใครๆ และได้ไตร่ตรองร่วมคิดหาทางออกให้แก่ชาติมาเป็นเวลานาน ผมจึงเชื่อว่าผมก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็นให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูครับ ข้อเสนอของผมมีเพียง 4 ข้อ โดยหลายอย่างเป็นสิ่งที่พูดกันอยู่แล้วในสังคม แต่ผมก็ถือโอกาสนี้รวบรวมและนำเสนอในมุมมองของเยาวชนผู้รักชาติคนหนึ่ง


หากภาครัฐเร่งดำเนินนโยบาย 4 ข้อดังต่อไปนี้ ผมมั่นใจว่ารัฐจะประสบความสำเร็จในการปรับสภาพสังคมส่วนใหญ่ให้เข้าสู่บรรยากาศความปรองดอง พร้อมเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์ ที่จะพัฒนาแผนปฏิรูปต่อไปในที่สุด ในขณะเดียวกันนโยบายสี่ข้อดังต่อไปนี้ ก็จะลดจำนวนของกลุ่มคนที่ต้องใช้วิธี “นอกกฎหมาย” ต่างๆ เพื่อเรียกร้องกดดันสังคม เพราะการกระทำดังกล่าวจะขาดความชอบธรรม และขาดการสนับสนุนของมวลชนที่พร้อมจะใช้เหตุผลแก้ปัญหาของชาติ


๑. นโยบายเรื่องสื่อสาระสนเทศ: สังคมไทยนั้นเป็นสังคมเสรี ประชาชนมีวิจารณญาณเพียงพอที่จะตัดสินรู้ผิดถูกด้วยตนเอง อย่างไรก็ดีในปัจจุบันประชาชนจำนวนมากได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนทุกด้าน หรือคลาดเคลื่อน ทำให้ประชาชนอยู่ในสภาวะที่มีโอกาสสูงที่จะตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีต่อชาติ และขบวนการปลุกปั่นปั้นข่าวลือต่างๆเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ประชาชนที่ตกเป็นเครื่องมือต่างเชื่อว่าตนทำเพื่อชาติเพราะมีข้อมูลไม่ครบถ้วน (imperfect information)


· สื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศต้องเข้าให้ถึงประชาชนทั้งประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลในชนบท เพื่อสร้างความเสมอภาคในด้านความรู้และความเข้าใจในสภาวการณ์และมุมมองต่างๆของผู้ขัดแย้งของคนในสังคม สื่อทางเลือกจะช่วยลดจำนวนของประชาชนที่ถูก “ครอบงำ” โดยสื่อที่ผูกขาดพื้นที่นั้นอยู่


· ส่งเสริมเสรีภาพในการพูด (freedom of speech) ของสื่อต่างๆ การดำเนินการเรื่อง พ.ร.บ. วิชาชีพสื่อนั้นมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว รัฐต้องหาวิธีให้สื่อเป็นอิสระจากภาครัฐให้ได้มากที่สุด และควรกำหนดสิทธิของสื่อให้ชัดเจนว่ามีสิ่งใดบ้างที่สื่อไม่ควรนำเสนอ เช่นความลับทางความมั่นคง หรือการนำเสนอสิ่งที่จะกระทบสิทธิของผู้อื่น โดยระเบียบต้องชัดเจนและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เมื่อสื่อรู้สิทธิของตนแล้ว สื่อก็ไม่จำเป็นต้องกลัวว่าสิ่งที่ตนตีพิมพ์ไปจะผิดกฎหมายหรือถูกรัฐบาลแบน สื่อไม่ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองอีกต่อไป (eliminate self-censorship)


· อำนวยความสะดวกในการเสนอข่าวของสื่อมวลชนเพื่อให้ข่าวที่ออกมาไม่คลาดเคลื่อน โดยรัฐบาลควรมีศูนย์กระจายข่าวถาวรเพื่อให้นักข่าวและประชาชนสามารถเข้าถึงและสอบถามข้อเท็จจริงในประเด็นที่เป็นที่สนใจของสังคมได้ทุกเวลา โดยศูนย์ข่าวนี้ควรมีศักยภาพในการนำข้อมูลในเชิงลึกจากทุกหน่วยงานของรัฐมาชี้แจงและเผยแพร่ หากหน่วยงานใดต้องการแถลงข่าวก็ควรกระทำผ่านศูนย์ดังกล่าวเพื่อลดความสับสนและสร้างเอกภาพในการให้ข้อมูล ศูนย์นี้อาจสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ แต่ต้องแตกต่างจากหน่วยงานอื่นๆในสั่งกัดตรงที่ศูนย์นี้ต้องเน้นการสื่อสารสองทาง (active two-way communication) ระหว่างประชาชน นักข่าว และ รัฐ 


๒. นโยบายเรื่องศรัทธา: ศรัทธานั้นเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ประชาชนกระทำการต่างๆ โดยเรื่องของศรัทธาต้องแบ่งเป็นสามส่วนขับเคลื่อนไปพร้อมกัน


· ศรัทธาในศาสนานั้นเป็นเรื่องสำคัญเพราะจะทำให้ประชาชนมีศีลธรรม ปฏิบัติตนในทางที่ชอบ ทำบุญ ทำทาน ทำกุศลเป็นประโยชน์ต่อสังคม การที่มีบุคคลเลื่อมใสในศาสนาหนึ่งคนจะส่งผลดีต่อบุคคลรอบข้างเป็นจำนวนมาก (positive externality) จริงอยู่ว่ามีคนจำนวนมากที่บอกว่าตนเลื่อมใส แต่ก็เห็นออกไปโวยวายขาดสติอยู่กลางถนน พระยังมีเลยครับ เพราะฉะนั้นรัฐต้องสนับสนุนให้ประชาชนทุกศาสนาเน้นการปฏิบัติมากกว่าเน้นพูด รัฐอาจรณรงค์ดำเนินการโครงการต่างๆเช่นโครงการ “ชุมชนศีลธรรม” เพื่อให้ประชาชนในชุมชนสละเวลาสักนิดทุกวันมาร่วมกันปฏิบัติธรรม เป็นกิจกรรมที่จะสร้างความปรองดองในระดับชุมชน ลดความอาฆาตระหว่างกันและกัน และเปิดใจประชาชนจากระดับชุมชนสู่ระดับชาติ


·  ศรัทธาในความจริงใจของภาครัฐนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสมานฉันท์เพราะหากประชาชนไม่ไว้ใจผู้ขับเคลื่อนกระบวนการ ก็ไม่รู้จะไว้ใจใครแล้วครับ โดยภาครัฐควรเริ่มด้วยการบริหารบ้านเมืองอย่างโปร่งใส การที่ให้หน่วยงานต่างๆนำการใช้จ่ายมาขึ้นในเว็บนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีครับ แต่รัฐบาลต้องคำนึงด้วยว่าคนที่เขาออกมาขับไล่ท่านน่ะครับ เขาบริโภคสื่อประเภทใดและต้องเข้าให้ถึง โดยรัฐอาจต้องเผยแพร่ข้อมูลการใช้จ่ายงบฯผ่านสื่อพิมพ์ หรือโทรทัศน์ด้วยอีกทาง รัฐต้อง “อย่าดีแต่พูด” แต่ต้องทำเป็นรูปธรรม จริงอยู่การรวมใจคนนั้นต้องใช้เวลานาน แต่การแสดงความจริงใจ ความโปร่งใสนั้นทำได้ไม่ยาก อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐควรทำคือส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐบาลกลางเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆของประชาชนคู่กันการปกครองส่วนถ้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนไว้ใจภาครัฐ ลดช่องทางการทุจริตของนักการเมืองระดับถ้องถิ่น และเพื่อให้รัฐเข้าใจปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง การแก้ปัญหาถ้องถิ่นก็จะมีประสิทธิภาพขึ้นเพราะสามารถเอารูปแบบของการแก้ปัญหาจากต่างถิ่นมาประยุกต์ใช้


· สุดท้ายคือสร้างความศรัทธาในประเทศและประชาชนโดยการชี้ให้ประชาชนเห็นว่า ไม่ว่าวิกฤตเราจะหนักหนาเพียงใด ในอดีตเราก็สามารถผ่านมาได้เพราะ “ความสามัคคี” การกระทำดังกล่าวจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ประชาชนทุกภาคส่วนกลับมามีกำลังใจร่วมกันทำเพื่อชาติอีกครั้ง


๓. นโยบายเรื่องการศึกษา: การศึกษาเป็นเรื่องทีใครๆก็พูดถึง เพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ประชาชนมีความคิด และมีความเป็นอยู่ที่ดี สร้างความเสมอภาค


· การศึกษาดีต้องทั่วถึง การดำเนินนโยบายเรียนฟรีเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแต่ต้องทำให้ได้จริง แค่ทั่วถึงอย่างเดียวนั้นไม่พอ เพราะต้องมีคุณภาพด้วย โครงการ “คืนครูดี” นั้นมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือรัฐต้องกำหนดหลักสูตรและหามาตรการให้ครูทุกคนสามารถสอนตามได้ เช่นการใช้คะแนนสอบมาตรฐานตามหลักสูตร อย่างเอ็นที(national test) เป็นการประเมินผลครู เมื่อพบว่าโรงเรียนใดคะแนนสอบต่ำก็ควรดำเนินการแก้ไขเรียกครูมาอบรม แนะวิธีการจัดตารางสอนให้สอนทัน มีคุณภาพได้ตามหลักสูตรมาตรฐานที่ต้องเท่ากันทั้งชาติ เพื่อให้เด็กทุกคนรู้จักคิด ใฝ่รู้ รักชาติ และมีความกล้าในการออกไปพัฒนาตน พัฒนาชาติต่อไป เด็กต้องถูกอบรมให้เป็นกำลังของชาติ


· มหาวิทยาลัยต้องมีคุณภาพและ ต้องผลักดันให้การศึกษาสามารถสร้างความเสมอภาคได้อย่างแท้จริง คือจบมาแล้วต้องมีงานรองรับ นิสิตไม่จำเป็นต้องใช้ “เส้น” เพื่อหางาน ใช้เพียงใบปริญญา และ ทรานสคริปท์เป็นกุญแจ ในความเป็นจริงมหาวิทยาลัยควรได้รับการสนับสนุนเรื่องการวิจัยอย่างจริงจัง เพื่อให้ผลงานวิจัยนั้นถูกนำมาพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศให้ขยายตัวเจริญขึ้น เมื่ออุตสาหกรรมเข็มแข็งก็จะมีงานมารองรับนักศึกษาจบใหม่มากขึ้น


๔. นโยบายเรื่องความยุติธรรม: เรื่องความยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะกระบวนการยุติธรรมนั้นเปรียบเหมือน คุณแม่ที่ตัดสินทำโทษเวลาเด็กตีกัน ใครมีเรื่องอะไรต้องจบลงเป็นที่สิ้นสุดอย่างเด็ดขาดที่ศาล ดังนั้นรัฐต้องทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและยอมรับในกระบวนการยุติธรรม


· ความโปร่งใสต้องเริ่มที่ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” รัฐต้องขจัดภาพพจน์ที่ไม่ดีของตำรวจโดยการกำชับกวดขันความประพฤติของตำรวจให้ทำงานอย่างโปร่งใสชี้แจงได้ ประชาชนมั่นใจว่าตำรวจไม่ออกไป “ล่าแพะ” ในความเป็นจริงผมเห็นว่าการรีดไถเงินประชาชนที่เห็นได้ชัดตามท้องถนนนั้นเป็น หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ตำรวจเสื่อมเสีย ที่จริงถ้าประชาชนไม่ร่วมมือ ตำรวจก็ต้องจำใจออกใบสั่ง ดังนั้นรัฐต้องเร่งขจัดวัฒนธรรมดังกล่าวโดยการชี้แจงและรณรงค์ให้ประชาชนทราบถึงสิทธิและวิธีการแจ้งการทุจริตของตำรวจ ระบบการจ่ายค่าปรับ และช่องทางแจ้งการทุจริตต้องสะดวกรวดเร็ว และสามารถตามเรื่องให้ผู้ร้องเห็นผลได้ ในขณะเดียวกันตำรวจต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีโดยไม่ต้องพึ่งเงินใต้โต๊ะ โดยรัฐอาจต้องนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของตำรวจ และในขณะเดียวกันก็ปฏิรูปตำรวจโดยการลดกำลังพลลง และใช้งบประมาณดูแลกำลังพลที่เหลืออยู่ให้ดีขึ้น


· ต้องมีกฎหมายที่แจงต่อสังคมอย่างชัดเจนว่าการกระทำอย่างใดที่เข้าข่าย “สิทธิในการชุมนุม” ละเมิด “สิทธิส่วนบุคคล” โดยกฎหมายนี้ต้องบังคับใช้เป็นบรรทัดฐานเพื่อให้ไม่มีใครมาอ้างเรื่อง “สองมาตรฐาน” ได้ และจะทำให้ฝ่ายความมั่นคงมีแนวทางการปฏิบัติ เป็นมาตรฐาน ตามกฎหมาย


· กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลต้องถี่ถ้วนแต่รวดเร็วโดยสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น


· ในขณะเดียวกัน ในคดีสำคัญที่เป็นที่สนใจของสังคม ศาลต้องมีช่องทางชี้แจงการตัดสินคดีต่อสาธารณชนอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างของความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจากคำพิพากษา คือคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถึงแม้ศาลได้มีมติเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ผิด และได้ออกมาชี้แจงเรื่องมติดังกล่าวหลังพิพากษาคดีไปแล้ว แต่กลับมีคนจำนวนมากที่เข้าใจว่าศาลไม่ได้ตัดสินว่าพรรคประชาธิปัตย์ผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ คนส่วนใหญ่เข้าใจกันเพียงว่าพรรคประชาธิปัตย์ “ชนะฟาล์ว”


· เพื่อปกป้องสถาบันศาลให้รอดพ้นจากการโจมตี รัฐต้องกล้าพิจารณาเรื่องการปฏิรูประบบยุติธรรม เพราะในปัจจุบันความน่าเชื่อถือของศาลนั้นขึ้นอยู่กับคณะตุลาการและผู้พิพากษาเท่านั้น เพียงคลิปโจมตีตุลาการไม่กี่ม้วนก็ทำให้ระบบยุติธรรมวุ้นวายกันไปแล้ว ดังนั้นเพื่อปกป้องสถาบันศาล รัฐอาจต้องพิจารณาว่าระบบที่มีคณะลูกขุน (Jury) นั้นจะเหมาะสมกับบ้านเมืองกว่าระบบปัจจุบัน หรือไม่?


ถึงเวลาแล้วครับที่ ไทยผู้ ”รักสามัคคี” ทุกคน ต้อง ”หันหน้าทางเดียวกัน” เพื่อ ร่วมกัน “ต่อสู้” และปฏิบัติหน้าที่ไปในทิศทางที่จะทำให้สังคมเรามีความสุข


No comments:

Post a Comment