Thursday, September 20, 2012

การรถไฟไทย...ทำไงดี














หากให้เดากันว่าการรถไฟของประเทศใด...

  • เริ่มก่อสร้างรถไฟสายแรกกว่า ๑๒๑ ปีที่แล้ว
  • มีหัวรถจักรดีเซลใช้งาน มากว่า ๘๒ ปี (ก่อนประเทศมหาอำนาจอย่างญี่ปุ่นกว่า ๑ ปี)
  • มีวิสัยทัศน์ก่อสร้างระบบรถไฟโดยที่ไม่ได้ถูกประเทศฝั่งตะวันตกบังคับ
  • มีกิจการรถไฟที่ก้าวหน้าเป็นอันดับต้นๆของเอเชีย
น้อยคนนักคงจะนึกออก แต่หากให้ทายว่าการรถไฟของประเทศใด...
  • มีหนี้ผูกพันกว่า ๗๐,๐๐๐ ล้าน
  • มีหัวรถจักรที่ใช้ได้เพียง ๑๓๕ หัว จากทั้งหมดที่ประจำการ ๒๓๔ หัว
  • มีอุบัติเหตุกว่า ๕๐๐ ครั้งในรอบ ๖ ปี (แหล่งข่าว: TPBS)
  • มักล่าช้า จนเอามาเป็นจุดขาย (http://www.youtube.com/watch?v=ViaP1PbQTPY)
  • การให้บริการ และดูแลความสะอาด ต่ำกว่ามาตรฐาน
พูดแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าระหว่างอดีตอันเกรียงไกรจนถึงวันนี้...เกิดอะไรขึ้น และที่สำคัญคือ เราจะเดินกันอย่างไรต่อไป
อันที่จริงการคมนาคมทางรางนั้นมีประโยชน์มากมาย หลายอย่าง:

  • ถูก ประหยัด ปลอดภัย(ถ้าได้มาตรฐาน)
  • ราคาการขนส่งสินค้า ๑ ตัน ไป ๑ กิโลเมตร หาก เป็นรถไฟจะตกอยู่ ที่ ๑.๓ บาท ซึ่งถูกกว่ารถบรรทุก กว่า ๓๕%
  • ทุกวันนี้ มี ประชาชนใช้รถไฟไทยเพียง ๕% การขนส่งสินค้าเพียง ๒.๒% และ สามารถรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางราง(อุปสงค์)ในประเทศได้เพียง ๓๐% ดังนั้นมีโอกาสทางตลาดสูง เพราะ อุปสงค์ มาก กว่า อุปาทาน
  • ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และ โครงการเมกะโปรเจคอย่างท่าเรือน้ำลึกทวาย ทำให้การพึ่งการรถไฟซึ่งสามารถขนส่งสิ้นค้าได้มากกว่ารถบรรทุกถึง ๖๐ ด้วยน้ำมันหนึ่งลิตร เป็นสิ่งที่หลีกเลี้ยงไม่ได้ และเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศ
  • รถไฟไทยมีทรัพย์สินมาก และเริ่มได้รับความสนใจจากรัฐบาลมากขึ้นจึงเป็นโอกาสดีที่เราจะเริ่มใช้สิ่งที่มีอยู่ให้คุ้มค่า

ในบทความนี้ผมจะเรียบเรียงข้อเสนอแนะต่างๆรวมทั้งเขียนถึงโอกาสที่เราอาจมองข้ามไป ดังเช่นเคยผมขอให้ท่านเปิดใจกว้างและอ่าน บทนำของบล๊อกผม เพื่อให้ท่านเข้าใจจุดยืนของผม

ข้อเสนอเร่งด่วน ระยะสั้นที่สามารถปฏิบัติได้ทันที ใช้งบน้อย:

  1. เรื่องความสะดวก
    1. จับมือกับ สายการบิน และ บริษัทรถทัวร์/รถตู้ เพื่อทำโครงการ รางต่อรถ รางต่อเรือบิน ในราคาพิเศษ และมีการประสานกันไม่ให้พลาดกันเชื่อมต่อเป็นต้น
    2. ในสภาวะที่ขาดหัวรถจักร ให้ลดจำนวนเที่ยวต่อวันลง โดยแยกระหว่างรถไฟ VIP ซึ่งเป็นรถชั้นหนึ่ง (นอน และนั่ง) ราคาสูงขึ้นได้บ้าง แต่ ห้ามสาย กับรถไฟชั้นสามฟรี/ถูก และชั้นสองที่อาจให้ความสำคัญน้อยลง ขอให้จัดหัวรถจักรสำรองและให้ความสำคัญกับขบวนดังกล่าวเวลาสับเปลี่ยนสับหลีกราง เพราะสาเหตุหลักที่ชนชั้นกลางซึ่งมีกำลังซื้อสูงและมีจำนวนมากไม่นั่งรถไฟก็เพราะความไม่แน่นอนเรืองเวลาและความสะดวกสบายเป็นปัจจัยหลัก ส่วนเรื่องราคาเป็นปัจจัยรอง
    3. สำหรับชั้นสองและสาม อาจวิ่งรถเป็นช่วงๆระหว่างสถานีหลักๆ แต่ละขบวนสั้นลง(ลดจำนวนโบกี้ต่อขบวน) แต่ถี่ขึ้น และจัดให้มีการสับเปลี่ยนและสำรองหัวรถจักรตามสถานีใหญ่ต่างๆ เพื่อถนอมหัวรถจักร (ขบวนสั้นลงกินกำลังน้อยลง เดินรถระยะสั้น มีโอกาสพักเครื่องบ่อยขึ้น) ลดปัญหาการล่าช้า (ยิ่งเดินทางสั้น ยิ่งโอกาสสายน้อย) และลดเวลาที่ใช้ในการเดินทางจากจุดที่มีหัวรถจักรสำรองสู่จุดที่หัวรถจักรเสีย อีกทั้งยังเพิ่มจำนวนคนที่จะขึ้นรถไฟจากสถานี "ปลายช่วง" อีกด้วย
    4. หากรถไฟล่าช้าควรมีการแจ้ง เวลาที่จะถึง และสาเหตุความล่าช้า อย่างเป็นระบบทั้งบนตัวรถ สถานีต่างๆ และ ตามสื่อออนไลน์ เพื่อให้ไม่เป็นการเสียเวลาผู้มารับ และลดความไม่พอใจของผู้โดยสาร
    5. หากทราบว่ามีโอกาสสูงที่รถไฟจะล่าช้า จากปัจจัยแปรผันต่างๆ ตารางการเดินรถนั้นก็ควรบวกเวลาตรงนี้เข้าไปก่อน เพื่อให้ผู้ใช้ "ทำใจ" และไม่รู้สึกว่าโดนหลอก
    6. เรื่องสุขา หากยังไม่มีงบ ให้พัฒนาห้องน้ำตาม "สถานีปลายช่วง" ตามข้อ 1.3 และส่งเสริมให้คนเข้าห้องน้ำพักผ่อนตามสถานีเหล่านี้แทนการนั่งแช่หรือใช้บริการส้วมบนรถ และยังเป็นการส่งเสริมพ่อค้า-แม่ค้าที่มาเช่าที่รถไฟด้วย
    7. กำชับและแบ่งหน้าที่รับผิดชอบเรืองการบริการให้ชัดเจน ว่าใครดูแลส่วนใดบ้างของรถไฟ ดูแลเรื่องอะไรบ้าง (ความสะอาด ความปลอดภัย บริการประชาชนทั่วไป) รวมทั้งมีช่องทางให้ประชาชนแจ้งร้องเรียนได้ โดยสะดวก
  2. เรื่องความปลอดภัย
    1. ร่วมมือกับ อบต-อบจ สำนักงานเขต ตามทางรถไฟเพื่อติดป้ายเตือนจุดตัดรถไฟให้ทั่วถึง โดยอาจของบท้องถิ่นมาช่วย
    2. ส่งเสริมให้มี "อาสารถไฟ" ซึ่งเป็นคนท้องถิ่น ให้ค่าเบี้ยเลี้ยง หรือไม่มีค่าจ้าง มีหน้าที่ดูแลทางตัดไม่ให้เกิดอันตราย และทำงานอื่นๆที่ไม่จำเป็นต้องมีการฟึกอบรมมาก ผู้อาสารู้สึกมีคุณค่าอยากกลับมาทำ
    3. เรื่องราง และ รถ ในช่วงเร่งด่วนงบน้อย อาจทำอะไรไม่ได้มาก การตรวจตรา รางขอให้ทำถี่ขึ้น และ มีการสับเปลี่ยน พนักงานขับรถไฟ ตามสถานีใหญ่เพื่อลดความเหนื่อยล้า และเพิ่มความชำนาญทางในช่วง(ที่สั้นลง ตามข้อ ๑.๓)ที่พนักงานต้องรับผิดชอบ
    4. จัดตั้งหน่วยงานภายนอก สอบสวนอุบัติเหตุและข้อร้องเรียนเรื่องรถไฟโดยเฉพาะ และชี้แจงให้สาธารณชนรับทราบอย่างสม่ำเสมอ
  3. เรื่องการพัฒนาบุคลากร
    1. มอบทุนและจับมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อให้บุคลากรรุ่นใหม่ไปศึกษาเรื่องการรถไฟและวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง
    2. จัดให้มีการเสวนาภายในองค์กรเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้
    3. จัดการสอบและอบรม ทบทวน อย่างสม่ำเสมอ 
    4. พิจารณาค่าตอบแทนและตำแหน่งจากผลการทำงาน และคะแนนตามข้า ๓.๓ มากกว่าตามอายุงานเพียงอย่างเดียว โดยต้องกำหนดเกณฑ์พิจารณาให้ชัดเจน เช่นสอบได้เท่านี้ จะได้อะไร เป็นต้น
    5. สหภาพแรงงานควรมีสิทธิ์ในการร่วมตัดสินใจทิศทางสำคัญๆขององค์กร
ข้อคิดเสนอแนะหลักๆที่เป็นโครงการเชิงโครงสร้างระยะยาวมีดังต่อไปนี้:

  1. ดำเนินการแยกการบริหาร รฟท ออกเป็นสามส่วนดังที่กล่าวกันตามแผนปฏิรูปรถไฟ
    1. ดูแลให้ทรัพย์สิน ที่ดินเกิดประโยชน์โดยการพัฒนาที่ดิน เช่า และดูแลไม่ให้มีการรุกล้ำเพื่อป้องกันปัญหาเวนคืนที่ในอนาคต
    2. ดูแลราง ระบบอาณัติสัญญาณ และจุดตัดต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน
    3. ผู้เดินรถ ซึ่ง(ส่วนตัว)เห็นว่าอาจอนุญาตให้มีการประมูลเส้นทางบางเส้นเพื่อให้เกิดการแข่งขันและลดปัญหาการแทรกแซงทางการเมืองในการบริหารกิจการเดินรถ โดยรฟท เอกชนหรือบริษัทที่รัฐถือหุ้นมากกว่า ๔๙.๙% (คล่องตัวเหมือนเอกชนแต่รัฐบาลมีอำนาจมาก) อาจร่วมประมูลด้วยก็เป็นได้ ทำให้ประชาชนได้นั่งรถไฟถูก มีคุณภาพ
  2. ควรมีการจัดตั้งกรมรถไฟเพื่อประสานงานทั้งสามหน่วยงานตามข้อหนึ่ง และวางกฎเกณฑ์ต่างๆให้ได้มาตรฐาน เป็นธรรม รวมทั้งเป็นผู้ตรวจสอบบังคับใช้กฎด้วย (ข้อเสนอจาก tdri)
  3. เร่งพัฒนา ราง หัวรถจักร ที่นั่ง ความสะดวกสบายโบกี้ และ บุคลากร ให้เพียงพอ มีมาตรฐาน
  4. จัดทำรถไฟความเร็วสูง
  5. สร้างความเชื่่อมั่นกับประชาชน ผ่านสื่อต่างๆ และทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการรถไฟไทยได้ง่ายขึ้นทาง เว็บไซต์ โทรศัพท์ และ โซเชียลมีเดีย





No comments:

Post a Comment